สกัดแคโรทีนอยด์จากน้ำมันปาล์มดิบ พัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์
นักวิจัย มช. นำแคโรทีนอยด์สกัดจากน้ำมันปาล์มดิบ พัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวพรรณและเส้นผม มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันสูง ดูดซับรังสี UV ได้ดี อุดมด้วยวิตามินช่วยบำรุง ป้องกันผิวและเส้นผม แคโรทีนอยด์เป็นสารที่พบมากในปาล์มน้ำมัน แต่ปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าแคโรทีนอยด์จากต่างประเทศ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ยา และเครื่องสำอาง เนื่องจากยังไม่มีเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับภาคการผลิตของไทย ดังนั้น คณะผู้วิจัย นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร. พัชรินทร์ ระวียัน คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ศึกษากรรมวิธีการผลิตแคโรทีนอยด์ที่เหมาะสม และได้ประสบความสำเร็จในการสร้างเครื่องต้นแบบผลิตแคโรทีนอยด์จากน้ำมันปาล์มดิบ ระดับกึ่งอุตสาหกรรม ที่มีกำลังการผลิตขนาด 100 กิโลกรัมต่อรอบ ตั้งอยู่ที่ศูนย์วิจัย สาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ อ. เมือง จ. เชียงใหม่ แคโรทีนอยด์ที่ผลิตจากเครื่องต้นแบบ สามารถปรับความเข้มข้นได้ตามต้องการ โดยแคโรทีนอยด์ที่ความเข้มข้นสูงกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เหมาะสำหรับนำไปผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร เช่น น้ำพริกเผา ไส้กรอก และหมูยอ เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ สำหรับแคโรทีนอยด์ที่มีความเข้มข้นประมาณ 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พบว่ามีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ต่อผิวพรรณและเส้นผมหลายประการ อาทิ มีฤทธิ์ในการต้านออกซิเดชันที่สูงมาก มีความสามารถในการดูดซับรังสี UV ได้ดี และอุดมไปด้วยวิตามิน จึงช่วยบำรุง และป้องกันผิวและเส้นผมจากการทำลายของอนุมูลอิสระและแสงแดดได้เป็นอย่างดี เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพตามวิถีธรรมชาติ และเพื่อรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากธรรมชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ ระวียัน จึงได้นำแคโรทีนอยด์ไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับผิวพรรณและเส้นผม หลากหลายชนิด ได้แก่ ซีรัมบำรุงผิวหน้า ครีมทาผิว ครีมกันแดด น้ำมันนวดตัว แชมพู ครีมหมักผม ครีมนวดผม โฟมล้างหน้า สบู่ ครีมอาบน้ำ แชมพูสำหรับสัตว์เลี้ยง และครีมนวดสำหรับสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ ยังมีน้ำมันหอมแก้วิงเวียน โลชันกันยุง และน้ำยาล้างจาน ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้น ยังมีส่วนผสมของสารสกัดจากสมุนไพรไทยหลากชนิด เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสภาพผิวและเส้นผม ที่ต้องการการบำรุงที่แตกต่างกัน โครงการสร้างเครื่องต้นแบบผลิตแคโรทีนอยด์ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ซึ่งมุ่งยกระดับ และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ผลงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สวก. ให้เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงนิทรรศการในงาน “ 46th International Exhibition of Inventions Geneva” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 11-15 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา และผลงาน “"ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเครื่องสกัดแคโรทีนอยด์จากนำ้มันปาล์มแดง” ซึ่งเป็นผลงานของ รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ ระวียัน อาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง สามารถคว้ารางวัลอันทรงเกียรติ นำชื่อเสียงมาสู่ สวก. และประเทศไทย