งานเปิดตัวเมืองนวัตกรรมอาหารอาหารส่วนขยาย ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ที่อาคารศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ 60 พรรษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดงานเปิดตัวเมืองนวัตกรรมอาหารอาหารส่วนขยาย ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ FoodInnopolis @Kasetsart เป็นปฐมฤกษ์ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (ศูนย์ FIN) เป็นผู้แทนคณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร นำมอบแจกันดอกไม้เพื่อแสดงความยินดีในพิธีเปิดงานดังกล่าว ภายในงานยังประกอบด้วยผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร เครือข่ายเมืองนวัตกรรมอาหาร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คณะกรรมการบริหารโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร ณ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ คณาจารย์ และนักวิจัย เข้าร่วมงาน
เมืองนวัตกรรมอาหารส่วนขยาย ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ FoodInnopolis @Kasetsart เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขยายพื้นที่ดำเนินการเมืองนวัตกรรมอาหารไปยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2562 โดยเป็นโครงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานหลักในด้านอาหาร 5 หน่วยงาน ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ คณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะประมง คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร (IFRPD) และ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (KAPI) มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ในรูปแบบศูนย์ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop service) เชื่อมโยงความเชี่ยวชาญของนักวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานพันธมิตร เพื่อพัฒนาและยกระดับนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึงพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
รศ.ดร.สุตเขตต์ นาคะเสถียร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์ ประธานในพิธีเปิดเมืองนวัตกรรมอาหารอาหารส่วนขยาย ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมภาคเกษตรและอาหารช่วยหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของประเทศมายาวนาน จากสภาวการณ์แข่งขันของตลาดโลกในปัจจุบัน แนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคจะตอบรับสินค้านวัตกรรมมากกว่าสินค้าในรูปแบบเดิม ไม่เว้นแม้แต่สินค้าและผลิตภัณฑ์ภาคเกษตรและอาหาร ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวและพัฒนานวัตกรรมอาหารเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
การเปิดตัวเมืองนวัตกรรมอาหารส่วนขยาย ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในวันนี้ จึงเป็นก้าวที่สำคัญของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานพันธมิตร จะให้บริการช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งในด้านการให้บริการเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับการวิเคราะห์ทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร พื้นที่ทดลองการผลิต โรงงานต้นแบบแปรรูปอาหารกึ่งอุตสาหกรรม พื้นที่สำหรับภาคเอกชนเพื่อการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงองค์ความรู้ ผลงานวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรและอาหารของคณาจารย์ นักวิจัย ตลอดจนทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะในการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์และเครื่องจักร จะถูกถ่ายทอดและต่อยอดให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ในรูปแบบของ ศูนย์ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop service) ซึ่งนับว่าเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม