พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานการวิจัยทางด้านข้าว เพื่อพัฒนาเกษตรกรรมและบุคลากร ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับสภาเกษตรจังหวัด 6 จังหวัด
เมื่อวันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน 2564 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สรญา เขียวนาวาวงศ์ษา ผู้ช่วยคณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร เป็นผู้แทนคณบดีเข้าร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานการวิจัยทางด้านข้าวเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมและบุคลากร ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับสภาเกษตรจังหวัด 6 จังหวัด โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสภาเกษตรจังหวัด 6 จังหวัด ประกอบไปด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี นครนายก ศรีสะเกษ และนครสวรรค์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานการวิจัยทางด้านข้าวเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมและบุคลากร ณ ห้องประชุมอินทนิล สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การลงนาม MOU ดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อขยายผล “เทคโนโลยีชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ในข้าวด้วยลำไอออนพลังงานต่ำ” ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับความสนใจจากสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรีจนนำไปสู่โมเดล “มช.-ราชบุรีโมเดล” โดยได้นำพันธุ์ข้าวไปขยายผล จำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ 1) ข้าวหอมเพื่อการบริโภค (มช 10-1 หรือ FRK-1): เป็นข้าวเจ้าหอมพื้นอ่อน ไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิต 1.43 ตัน/ไร่ 2)ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมแป้ง (ศฟ 10-5 หรือ MSY-4) เป็นข้าวเจ้าพื้นแข็ง ไม่ไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิต 1.54 ตัน/ไร่ 3) ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ (ศฟ 10-7 หรือ OSSY-23) เป็นข้าวเจ้าพื้นแข็ง ไม่ไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิต 1.7 ตัน/ไร่ จากผลการเพาะปลูกที่ผ่านมา พบว่า ข้าวลำไอออน 3 สายพันธุ์นี้ ได้รับเสียงตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดี เพราะให้ผลผลิตสูง และไม่พบการระบาดของโรคและแมลงที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย จึงทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมาก และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปัญหาผลผลิตข้าวที่ต่ำ เป็นปัญหาที่เรื้อรังของเกษตรกรชาวนามาโดยตลอด จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน และเมื่อมีข้าว ลำไอออนที่ให้ผลผลิตสูงกว่า 1 ตันต่อไร่ มาช่วยแก้ปัญหาของชาวนาอย่างตรงเป้า ข้าวลำไอออนจึงได้รับความสนใจจากสภาเกษตรกรหลายจังหวัด